ปลาสลิดไทยโกอินเตอร์ ส่งขาย“จีน-ลาว-พม่า


ปลาสลิดไทยโกอินเตอร์  ส่งขาย“จีน-ลาว-พม่า

สกสว. จับมือม.หัวเฉียวฯ ทำวิจัยช่องทางส่งออกปลาสลิดบางบ่อ ทั้งแดดเดียวและแปรรูป ส่งขายประเทศจีน พบ 3 ช่องทางส่งออกเตรียมปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สะดุดตา เผยนอกจากจีนแล้วยังมี ลาว-เมียนมา ก็ชอบกินปลาสลิดบางบ่อเช่นกัน..


 ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้ทุนทำวิจัยในโครงการ การพัฒนาช่องทางการตลาดต่างประเทศ เพื่อส่งออกปลาสลิดแปรรูป จังหวัดสมุทรปราการ ทางท่าเทียบเรือเชียงแสนสู่จีนตอนใต้ ด้วยกระบวนการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัญญ์ทิตา  ชนะชัยภูวพัฒน์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย พร้อมด้วยบุคคลากร ม.หัวเฉียวฯ เพื่อหาช่องทางช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้แปรรูปปลาสลิดบางบ่อ ส่งออกปลาสลิดไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน


 สำหรับโครงการดังกล่าว มีผู้ประกอบการ  5 เจ้าดังในจ.สมุทรปราการ เข้าร่วม ประกอบด้วย ร้านแม่อำนวยปลาสลิดบางบ่อ, ร้านแสนสมบูรณ์ปลาสลิดบางบ่อ, ร้านปลาสลิดแม่นิตยาบางบ่อ ,ร้านปลาสลิดอ้ายธี และ ร้านสลิ๊ด สลิด ปลาสลิดบางบ่อ  ซึ่งผลการวิจัยพบว่าชาวจีนให้ความสนใจปลาสลิดทอดอบกรอบและเนื้อปลาสลิดแท่ง เพราะอร่อยเก็บไว้ได้นาน  อีกทั้งยังเป็นการสร้างตลาด เปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผู้แปรรูปปลาสลิด ได้พบกับผู้ค้าส่งของจีนโดยตรง โดยได้รับความร่วมมือจาก คุณผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ที่เป็นตัวกลางจัดตั้งเป็น  “กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปปลาสลิดบางบ่อ-ล้านนา”  พาเกษตรกรผู้เลี้ยงและแปรรูปปลาสลิด ไปร่วมงานเจรจาธุรกิจ และพาไปเปิดบูธออกร้านขายในพื้นที่เพื่อทดลองตลาด ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี


 ผศ.ดร.ศรัญญ์ทิตา กล่าวว่า สำหรับคนไทย ใครๆ ก็รู้จักปลาสลิดบางบ่อ เพราะขึ้นชื่อมานานในด้านความอร่อย แต่ถ้าปลาสลิดไทยจะก้าวไปไกลถึงประเทศจีน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูน่ารับประทาน ทั้ง ปลาสลิดแดดเดียว และในรูปแบบอื่นๆ ที่แปรรูปเพื่อให้ง่ายกับการเก็บถนอม จึงให้นักศึกษาช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูดีขึ้น โดยในเรื่องของรสชาติเรามีเอกลักษณ์อยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ต่างชาติถูกปากรสชาติปลาสลิดบางบ่อ อันนี้ต้องคิดหาวิธีและช่องทาง เพื่อส่งสินค้าไปให้ลิ้มลอง


 “ส่วนผลสำรวจการบุกตลาด พบว่าเส้นทางการค้าปลาสลิดไทยไปจีน สามารถทำได้หลายช่องทางด้วยกัน เช่น  ทำการตลาดตรงกับผู้ค้าส่งของจีน การทำการค้าชายแดนบริเวณจุดผ่อนปรนการค้าและจุดผ่านแดนถาวร และอีกหนึ่งช่องทาง คือ ทำการค้ากับผู้ประกอบการค้าส่งของจังหวัดเชียงราย และที่สำคัญ ยังพบว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา ลาว ก็ชอบกินปลาสลิดบางบ่ออีกด้วย” ผศ.ดร.ศรัญญ์ทิตา กล่าว


 ด้านนางสุภรี รุ่งประทีปไพบูลย์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับการช่วยเหลือและชี้แนะในช่องทางการค้าเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาสลิดแปรรูปออกขายต่างประเทศ ที่ผ่านมาเราทำได้แค่เปิดตลาดในประเทศ ทั้งขายประจำหน้าร้าน และขายในงานแฟร์ต่างๆ แต่ตอนนี้ได้มีโอกาสรู้ช่องทาง รู้ตลาด ทำให้มีโอกาสในการขายปลาสลิดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้ทำความรู้จักกับคู่ค้าชาวจีน และผู้ค้าส่งแนวชายแดน ยิ่งทำให้เราสามารถต่อยอดธุรกิจออกไปได้อีกในอนาคต

ความคิดเห็น