ธรรมนัส จับมือ ยุทธนา และ กทบ. เดินหน้านำที่ดินของราชการ ใช้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ธรรมนัส จับมือ ยุทธนา และ กทบ. เดินหน้านำที่ดินของราชการ ใช้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
วันพุธที่ 22 มกราคม 2563 ณ กรมธนารักษ์ : ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ และนายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ร่วมแถลงข่าว กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ เดินหน้านำที่ดินของราชการ ใช้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 กรมธนารักษ์
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในฐานะที่ผมดูแลที่ สปก., อตก. และกรมพัฒนาที่ดิน ต่อจากนี้ไป จะมีการกำหนดทิศทางในการเข้าถึงหมู่บ้านและชุมชนเมืองในอนาคต โดยนโยบายจาก ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางไว้เป็นหลักการว่า หาก 3 องค์กรนี้ เดินทางไปด้วยกัน โดยมีพี่เลี้ยง ซึ่งอาจจะเป็น ธกส. หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือสถาบันการเงินอื่นๆ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับเรา
ซึ่งทาง กรมธนารักษ์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้มอบสิทธิทำกินที่และที่อยู่อาศัย ขณะที่ คุณรักพงษ์ ก็ดูแลกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนว่า กองทุนหมู่บ้าน จะใช้เงินไปในเรื่องอะไรบ้าง ทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ต่อไปจะมีการกำหนดทิศทาง เพื่อขับเคลื่อนและเดินไปในทิศทางเดียวกัน
รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อไปนี้เราจะเลือกชุมชนที่เป็นหมู่บ้าน โดยต้องเลือกหมู่บ้าน ที่เดือดร้อนที่สุด โดยเรามีเป้าหมายอยู่แล้ว คือ ณ เวลานี้ปัญหาพี่น้องประชาชนทางภาคอีสาน ที่เราไปมอบ สปก.ให้ มีปัญหาคือไม่สามารถเอาไปต่อยอดอะไรได้ คือประชาชนได้ที่ดินไปแต่ขาดสภาพคล่องในการต่อยอด ซึ่ง ณ เวลานี้ ผมได้กำหนดนโยบายชัดเจนว่า ในการมอบที่ดินให้ชาวบ้าน ต่อไปต้องมอบสาธารณูปโภคทั้งหมดให้เขาด้วย เช่น ถนนหนทางและไฟฟ้า ต้องมอบไปด้วย ไม่ใช่ไปมอบที่ดินตาบอดให้แล้วเขาไม่สามารถนำไปต่อยอดอะไรได้
เมื่อโครงสร้างพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปคือการให้อาชีพ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ในแต่ละบริบท ในแต่ละจังหวัดจะไม่เหมือนกัน เราจะต้องดูว่าแต่ละพื้นที่ มีความเหมาะสมกับอะไร ผมยกตัวอย่างเช่นที่ผมเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดยะลา ที่ตำบลบูดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พื้นที่นี้เหมาะสำหรับการปลูกข้าว โดยที่ผ่านมาการปลูกข้าว ชาวบ้านก็ทำไปตามวิถีของเขา ไม่มีกรมวิชาการเกษตรเข้าไปช่วย ไม่มีกรมพัฒนาที่ดินเข้าไปกำกับดูแลคุณภาพดิน ไม่มีการตลาด ซึ่งต่อจากนี้เราก็จะเข้าไปดูแลให้แล้วก็ทำเป็นโมเดล ซึ่งจะไปทำในภาคใต้ต่อไป ส่วนภาคอีสาน เราก็จะเลือกเอาจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งหรือชุมชนใดชุมชนหนึ่งขึ้นมาทำเป็นโมเดล แล้วนำไป ใช้ในชุมชนอื่นต่อไป
ส่วน นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า การร่วมมือกัน ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เดินหน้านำที่ดินของราชการไปใช้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยการแถลงข่าวในวันนี้ ได้รับเกียรติจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายรักพงษ์ เซ่งเจริญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว ซึ่งความร่วมมือกันในวันนี้ เพื่อทำความตกลงร่วมกัน ในการนำที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ของราชการมาใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ทั้งในระดับชุมชนและสังคมด้วย ตลอดจนมุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของชุมชนและสังคม ฐานรากให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐจัดสรรที่ดินโดยสร้างประโยชน์ในที่ดินนั้นให้แก่ประชาชนแล้ว ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย ทำการเกษตรกรรมหรือประกอบกิจการต่างๆ ในที่ดินของรัฐ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะเป็นส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิต ของประชาชน ในสังคม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐได้อีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน นายรักพงษ์ เซ่งเจริญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กทบ. กล่าวว่า รู้สึกยินดีและจะนำนโยบายที่ได้ร่วมหารือกันทั้ง 3 องค์กรในวันนี้ ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น