3 รูปแบบหลักสูตรตอบคนทุก GEN หนทางรอดมหาวิทยาลัยยุคใหม่โดยรศ.ดร.ปรัชญา ชุ่มนาเสียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.)
3 รูปแบบหลักสูตรตอบคนทุก GEN หนทางรอดมหาวิทยาลัยยุคใหม่โดยรศ.ดร.ปรัชญา ชุ่มนาเสียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.)
3 รูปแบบหลักสูตรตอบคนทุก GEN หนทางรอดมหาวิทยาลัยยุคใหม่
ด้วยจำนวนเด็กที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่ใบปริญญาอาจจะไม่สำคัญอีกต่อไป รวมถึงการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตผู้คน และการเกิดโรคระบาดอย่างโควิด-19 ล้วนเป็นสถานการณ์ที่กระตุ้นให้ "สถาบันอุดมศึกษา" ทุกแห่งต้องเร่งปรับโฉม พัฒนาหลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอนตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ ตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ
รศ.ดร.ปรัชญา ชุ่มนาเสียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กเกิดใหม่ลดลง โดยทั่วโลกทุก 1 นาที จะมีเด็กเกิดใหม่ 140 คน ขณะที่ประเทศไทย ทุก 1 นาที จะมีเด็กเกิดใหม่ 1 คน ซึ่งการที่มีเด็กเกิดใหม่น้อยลงสะท้อนให้เห็นว่าวัยแรงงานลดลงเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นด้วยลักษณะของกลุ่มผู้เรียนในอนาคตจะมีความหลากหลาย GEN ทั้ง GEN X ,GEN Y และGEN Z ที่มีความต้องการต่างกัน รูปแบบการเรียนรู้ก็จะแตกต่างกัน โดยคนกลุ่ม Gen X และ Gen Y ต้องการเสริมสมรรถนะให้ตนเอง ส่วน Gen Y ซึ่งมีจำนวนประมาณ 19 ล้านคน ชอบความท้าทาย และกลุ่ม Gen Z จำนวนประมาณ 10 ล้านคน ต้องการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ สามารถปรับใช้ได้หลากหลาย ฉะนั้น การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิม
"คนที่จะอยู่รอดในยุคปัจจุบันนี้ต้องมีทักษะมากกว่า 1 อย่าง ดังนั้น สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องทำและปรับตัว คือ ต้องมีการปรับหลักสูตรให้ตอบโจทย์วัยแรงงานและขยายตลาดผู้เรียนไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ มีการ Reskill/Upskill พัฒนาหลักสูตรให้มีความน่าสนใจและองค์ความรู้ใหม่อยู่ตลอด แบบตั้งรับและเคลื่อนที่เร็ว อย่าง ม.รามคำแหงเป็นการเรียนแบบตลาดวิชา ทำให้นักศึกษาได้เลือกเรียนอย่างอิสระ และสอดคล้องกับงานที่เกิดขึ้นใหม่ ที่สำคัญต้องมีการพัฒนาทักษะ คุณภาพของนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตสายพันธุ์ใหม่ โดยมีการจัดทำหลักสูตรอิงสมรรถนะและทักษะ แบบเรียนเป็นชุดวิชา (Modules) แทนการเรียนทั้งสาขาวิชา เน้นการมีทักษะมากกว่าเน้นปริญญา และต้องเพิ่มหลักสูตรจากการเรียนรายวิชา เป็นการเรียนตามหัวข้อ สามารถขอเทียบโอนหน่วยกิตหรือขอใบรับรองได้" รศ.ดร.ปรัชญา กล่าว
รศ.ดร.ปรัชญา กล่าวด้วยว่า มีความเป็นไปได้ว่านักศึกษาที่จบใหม่ในปี 2564 ที่มีมากกว่า 1.8 ล้านคน จะยังเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ได้ในทันที และคาดว่าประมาณ 4-5 แสนคน อาจจะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เช่น ปริญญาโทหรือปริญญาตรีใบที่ 2 ในขณะที่หางานทำไปด้วย หรือเป็นฟรีแลนซ์งานอื่นๆไปด้วย รวมถึงกลุ่มคนที่ยังอยู่ใน Gen X, Y ที่ต้อง Reskill/Upskill หรือ หาทักษะใหม่ให้กับตนเองเพื่อเปลี่ยนสายงาน/สายอาชีพไปเลย ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยบูรณาการสิ่งที่มีอยู่เดิมและพัฒนาหลักสูตรใหม่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน จากเวทีสัมมนา Flagship Summit :Skills for the future ณ จุฬาลงกรณ์ วิทยาลัย ได้สรุปถึงงานในอีก 12ปี ข้างหน้า ว่า กว่า 80% ของงานที่มีในอนาคต ยังไม่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าอนาคตจะมีงานรูปแบบใหม่ เกิดขึ้นอีกมากมาย
รศ.ดร.ปรัชญา กล่าวต่อว่า สำหรับการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย ต้องเน้นเสริมสมรรถนะ ทักษะที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีไม่สามารถเลียนแบบได้ ซึ่งในส่วนของมร.นั้น ได้มีการปรับตัวพัฒนาตนเองตลอดเวลา และหลังจากนี้จะมีการเพิ่ม Learning Skill และการเรียนแบบเพิ่มพูนทักษะด้วยการปฏิบัติจริงหรือ Active Learning การส่งเสริมการเรียนรู้จากของจริง (Learning experience) ให้ครอบคลุมทั้งสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์ เช่น การไปฝึกงาน ในองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นต้น อีกทั้งต้องเพิ่มทักษะผู้บริหาร เพื่อตอบสนอง Human-machine Partnership เพราะแม้ว่า AI จะฉลาดเพียงใด แต่การตัดสินใจหลักยังคงต้องเป็นผู้บริหารที่เป็นผู้ตัดสินใจหลัก ต้องเรียนรู้การทำ Decision making
เมื่อเทรนด์การเรียนรู้ของผู้คนไม่ได้จำกัดเฉพาะในห้องเรียน และกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนของมหาวิทยาลัยไม่ได้มีเพียงกลุ่มเด็กจบมัธยมศึกษาตอนปลาย รศ.ดรปรัชญา กล่าวอีกว่า การเกิดหลักสูตรใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบันมีความจำเป็นอย่างมาก โดยหลักสูตรแห่งอนาคตจะต้องมี 3 รูปแบบ ดังนี้
1. Formal Education เน้นหลักสูตร 4 ปี 5ปี (วิชาชีพ) หรือหลักสูตรต่อเนื่อง โดยออกแบบหลักสูตรตามจุดแข็งดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย และสร้างหลักสูตรสอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยพยายามนำสาขาวิชาในแต่ละคณะมาบูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างหลักสูตรใหม่ อาทิ สาขาแพทย์แผนไทยร่วมกับสาขาคหกรรมศาตร์ กับสาขาเทคโนโลยีด้านอาหาร สร้างผลิตภัณฑ์อาหาร และยาจากพืชสมุนไพรไทย เป็นต้น
“การเรียนการสอนตอบโจทย์กลุ่มผู้เรียนตาม Gen Z เพื่อรองรับแนวโน้มของงานในอนาคต ต้องเป็นการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่มากกว่าตำรา หรือทฤษฎี และสามารถปรับใช้ได้อย่างหลากหลาย เด็กรุ่นใหม่ต้องมีทักษะมากกว่า 1 อย่าง ดังนั้น หลักสูตรใหม่เพื่อพัฒนาผู้เรียน ต้องเป็นหลักสูตร Formal Education เน้นหลักสูตร 4 ปี 5ปี(วิชาชีพ) หรือหลักสูตรต่อเนื่อง โดยออกแบบหลักสูตรตามจุดแข็งดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย และสร้างหลักสูตรที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยพยายามนำสาขาวิชาในแต่ละคณะมาบูรณาการร่วมกัน สร้างหลักสูตรใหม่ จูงใจ นศ. Gen Z และตลาดแรงงาน อาทิ สาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ร่วมกับ สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ และ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างนักลงทุนระหว่างประเทศอย่างมืออาชีพ หรือ สาขาแพทย์แผนไทย ร่วมกับสาขาคหกรรมศาสตร์ กับสาขาเทคโนโลยีด้านอาหาร สร้างผลิตภัณฑ์อาหารและยาจากพืชสมุนไพรไทย หรือ สาขาแพทย์แผนไทย ร่วมกับ สาขาวิชาเคมี กับสาขาการเกษตร ผลิตเครื่องสำอางจากสมุนไพรไทย รวมถึงสาขาที่ขาดแคลนและเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน เช่น ทัศนมาตรศาสตร์ที่มีจำนวนนักศึกษาที่สามารถออกสู่ตลาดแรงงานได้กว่า 90%” รศ.ดร.ปรัชญา กล่าว
2.Non formal Education หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ทั้งระบบ Online และ ระบบ Offline เพื่อตอบโจทย์ New Normal และ การเรียนที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้จริง ด้วยแนวคิดการเรียนรู้อย่างสนุกและสร้างงาน เช่น การสร้างยูทูปเบอร์, การขายของออนไลน์, Life Coach, Reviewer, นักการตลาดออนไลน์, เจ้าของธุรกิจ Start up เป็นต้น
3. Informal Education หรือการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกวัย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นรูปแบบ Online หรือ MOOC (Massive Open Online Course) เพื่อต่อยอดเพิ่มพูนความรู้ ทักษะในอาชีพตามความถนัดและสนใจของกลุ่มเป้าหมาย
นอกจาก บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการสร้างทุนมนุษย์แล้ว ยังต้องเป็นแหล่งพัฒนาศักยภาพของบัณฑิตเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนหรือพัฒนาชุมชน เพราะการบริการสังคม ร่วมกับชุมชนในการแก้ปัญหาท้องถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพแก่ชุมชน เป็นการฝึกให้นักศึกษามีความรับผิดชอบ พัฒนาทักษะการสื่อสาร มนุษย์สัมพันธ์ การทำงานเป็นทีมและการมีทักษะศตวรรษที่ 21 นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน
"มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การทำวิจัยชุมชน และนวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้บริการคนในชุมชนมีความสำคัญ เช่น การให้บริการความรู้ด้านแพทย์แผนไทย และสมุนไพร โดยมีการจัดตั้งศูนย์การแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพที่รวบรวมองค์ความรู้ อาทิเช่น แพทย์แผนไทย ทัศนมาตรศาสตร์ รังสีเทคนิควิทยา ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุและการส่งเสริมสุขภาพกับประชาชนทั่วไป พร้อมกันนี้จะมีการปรับให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางพัฒนาประจำจังหวัด โดยร่วมกับ นศ.ที่ออกค่ายอาสา เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายที่การพัฒนาไปพร้อมกับชุมชน และมีความยั่งยืน จัดทำศูนย์อบรมระยะสั้น การพัฒนาการเรียนรู้ ตามความต้องการ (Need Assessment) ความจำเป็นที่ต้องการการที่เรียนรู้ตามสาขาวิชาชีพ ความถนัด ทักษะที่ต้องการ ทั้งหมดนี้ ต้องเป็นบทบาทของมหาวิทยาลัยยุคใหม่ที่ไม่ได้มองเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ต้องเป็นที่พึ่งและแหล่งอบรม เรียนรู้ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตแก่ผู้คนทุกกลุ่ม" รศ.ดร.ปรัชญา กล่าว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น