กังวลผลกระทบกองดินจากการขุดอุโมงค์ส่งน้ำไปเติมเขื่อนภูมิพล


กังวลผลกระทบกองดินจากการขุดอุโมงค์ส่งน้ำไปเติมเขื่อนภูมิพล


หลังเกิดภัยแล้งรุนแรงถี่ขึ้นเรื่อยๆในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ริเริ่มโครงการผันน้ำจากเขื่อนน้ำยวมในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปเติมเขื่อนภูมิพลในฤดูฝน เพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำให้กับลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้มากขึ้น และได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ




แต่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ยังคงมองว่า โครงการนี้อาจจะมีผลกระทบในหลายด้าน เช่น การทิ้งดินจากการขุดอุโมงค์ อาจจะส่งผลกระทบกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน

การขุดอุโมงค์แล้วเอาดินไปทิ้งที่ไหนแล้วผลกระทบของชาวบ้านที่จะรับภาระจากดิน เพราะผมไปดู 3-4 จุด จุดที่เอาดินไปทิ้งทั้งหมดประมาณ 6 จุด ส่วนชาวบ้านก็เป็นชาวบ้านปกากะญอแล้วก็มีที่เพียงคนละไม่เท่าไร แล้วก็ทําไร่หมุนเวียน เขาจะออกไปนอกพื้นที่ ก็จะเป็นเขตป่าอนุรักษ์ เป็นป่า อุทยานบ้าง ก็ขยับไปมากกว่านี้ไม่ได้ เมื่อไปมากกว่านี้ ไม่ได้ เขามีที่อยู่ทั้งหมู่บ้าน 100 กว่าไร่ คุณแย่งเข้าไปตั้ง 80 สิบไร่ เขาจะหมุนเวียนยังไง




นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานชี้แจงว่า การก่อสร้างจะต้องคำนึงถึงการเข้าไปทำงานในเขตอุทยานฯ ซึ่งจะต้องมีกระบวนการในการขุด และการเกลี่ยดิน รวมทั้งจะต้องปลูกต้นไม้ทดแทน ซึ่งเป็นข้อตกลงกับกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ รวมทั้งการดำเนินงานจะต้องไม่ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน

เราก็วางเป็นจุดเป็นจุด เรามีโครงการแม่งัด-แม่กวงนะครับ ที่เราไปทำอยู่ปัจจุบัน อุโมงค์ดินมีลักษณะเช่นเดียวกันครับ เราก็ดูว่าในพื้นที่ที่เราไปกองได้ ไม่มีผลกระทบกับพี่น้องประชาชน เราก็ไปกองและก็ไปเกลี่ย ถ้าเราไปกองไปเกลี่ยแล้ว ถ้าเราวิเคราะห์แล้วว่า จะมีการสไลด์ของดินต่างๆ เราจะก็ทำเป็นลักษณะการเรียงหิน การป้องกัน  protect ต่างๆ ไว้อย่างแน่นอน ไม่ให้เดือดร้อน อย่างที่ผมบอกเราพยายามไปกองในพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่กระทบกับที่สงวนที่ของพี่น้องประชาชน” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวยืนยัน

ความคิดเห็น