กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อขยายผลสู่เชิงพาณิชย์และการเตรียมความพร้อมเครือข่ายหน่วยทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์โครงการ "การพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์" ปีงบประมาณ 2564
กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์ Kick Off กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อขยายผลสู่เชิงพาณิชย์และการเตรียมความพร้อมเครือข่ายหน่วยทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ตามโครงการ "การพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์" ปีงบประมาณ 2564 ขึ้นในวันศุกร์ที่ 22 มกราคม 2564 ณ ห้องประชุมรวยสุข โรงแรมมารวยการ์เดนส์ กรุงเทพมหานคร
รศ.ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์ ประธานหลักสูตร Entrepreneurship Education คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ “พัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์” ปีงบประมาณ 2564 กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2563 โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยบริษัทที่เป็นผู้ประกอบการ SME จำนวน 5 บริษัท ส่วนในงบประมาณ 2564 นี้ จะมีการขยายผลนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น หมายถึงคิดและผลิตโดยคนไทย ขายโดยคนไทย เพื่อทดแทนการนำเข้า รวมทั้งยังสามารถส่งออกได้ และมีการเตรียมความพร้อมเครือข่ายหน่วยทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ หรือCo-Medical Lab ในประเทศไทยอีกด้วย
“กิจกรรมแรกในวันนี้ คือ การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ 5 กิจการเข้ามาสู่วัตถุประสงค์ที่ 1 โดย 5 กิจการใหม่ จะพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ขึ้นมา การคัดเลือกผู้ประกอบการในวันนี้ จะมีผู้แทนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับคณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นกรรมการคัดเลือก โดยผู้ประกอบการรายเก่าที่พัฒนานวัตกรรมเมื่อปีที่แล้วจะเข้าร่วมในวัตถุประสงค์ที่ 2 เป็นการขยายเครือข่ายให้ มากขึ้น”
รศ.ดร.เมธินี ยังกล่าวอีกว่า กิจกรรมหลังจากนี้จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ ด้านเข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการSME ให้สามารถพัฒนานวัตกรรม ต่อยอด และขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ด้านการสร้างมาตรฐานในการทดสอบ ด้านการเงินที่จะสนับสนุนธุรกิจ SME รวมทั้งด้านการตลาดและการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย
นายสุภเชษฐ์ จงธนากร กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทโย เมดิคอล อินสทรูเม้นท์ จำกัด ที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ในปี2563 และได้พัฒนานวัตกรรมต้นแบบยูนิตทำฟันพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในห้องปฎิบัติการทันตกรรมขึ้นมา บอกว่ายูนิตทำฟันนี้ผลิตจากพลาสติกประเภท ABS ที่มีความสวยงามและทำความสะอาดง่าย บางส่วนผลิตจากอลูมิเนียมอัลลอยที่มีความคงทนและปลอดภัย แต่ความโดดเด่นอยู่ที่นวัตกรรมยูนิตทำฟัน คือการติดตั้งระบบพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคแบบซูเปอร์สเปรย์ ที่สามารถฆ่าเชื้อโคโรน่าไวรัสภายในห้องปฎิบัติการทันตกรรม ทำให้เป็นห้องปลอดเชื้อได้ภายในเวลา10 นาที โดยนวัตกรรมนี้เป็นการคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก “ในเวลาทำฟันจะมีการกรอฟันและมีน้ำพ่นออกมาฟุ้งกระจายในอากาศ ถ้าคนที่ติดเชื้อโควิด-19 มาทำฟัน ก็จะทำให้เชื้อโรคฟุ้งกระจายในห้องนั้นเป็นปริมาณมากนวัตกรรมชิ้นนี้จะทำหน้าที่พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหลังจากคนไข้ทำฟันเสร็จแล้ว เพื่อทำให้ห้องนั้นเป็นห้องปลอดเชื้ออีกครั้ง”
นายสุภเชษฐ์ ยังเสริมอีกว่า หลังจากพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้แล้ว บริษัทยังได้นำน้ำยาฆ่าเชื้อนี้ไปตรวจสอบและได้รับการรับรองจากคณะวิทยาศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลว่า สามารถฆ่าเชื้อโคโรน่าไวรัสได้จริง รวมทั้งยังได้รับรางวัลนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคกลาง ประจำปี 2563 จากหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นการได้รับรางวัลร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนี้ได้เริ่มจำหน่ายนวัตกรรมยูนิตทำฟันพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในห้องปฎิบัติการทันตกรรมนี้ออกไปสู่ท้องตลาดบ้างแล้ว
ส่วนนายเกรียงไกร จองเจตจรุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัท รองเท้าไท จำกัด ได้คิดค้นต้นแบบรองเท้าเพื่อสุขภาพที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปีที่แล้ว นายเกรียงไกรกล่าวว่านวัตกรรมนี้จะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง เพราะเป็นการนำขยะขวดพลาสติกใสหรือขวด PET มาผลิตเป็นรองเท้าเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันรองเท้าเพื่อสุขภาพมีราคาแพงหลักพันบาทขึ้นไป แต่รองเท้าเพื่อสุขภาพจากวัสดุรีไซเคิลนี้จะมีราคาถูกกว่ามากประมาณคู่ละ 450 บาท เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงรองเท้าเพื่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น
“รองเท้าเพื่อสุขภาพจะช่วยแก้ปัญหาคนที่มีอุ้งเท้าสูงและเท้าแบน ที่มักจะปวดส้นเท้าเวลาเดินและเมื่อยง่าย รองเท้าเพื่อสุขภาพจะมีการเสริมอุ้งเท้าให้ ทำให้เดินและยืนได้นานกว่าปกติ โดยรองเท้าที่ผลิตจากขวด PET นี้จะมีน้ำหนักเบา ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ลดความอับชื้น ทำความสะอาดง่ายด้วยการล้างน้ำ รวมทั้งยังเป็นรองเท้ากันน้ำจากคุณสมบัติของพลาสติกอีกด้วย”
นายเกรียงไกรบอกอีกว่า นวัตกรรมนี้ผลิตขึ้นมาเป็นรองเท้านักเรียนก่อน โดยใช้ขวด PET 4 ขวด ต่อ 1 คู่ โดยในขณะนี้ได้มีการต่อยอดพัฒนาเป็นรองเท้าสุขภาพที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลเพื่อผู้สูงวัยอีกด้วย และจะเริ่มวางตลาดรองเท้านักเรียนเพื่อสุขภาพในเดือนมีนาคม 2564 นี้
นอกจากนี้นวัตกรรมรองเท้านักเรียนเพื่อสุขภาพใช้วัสดุในประเทศทั้งหมดโดยผลิตจากขยะขวดพลาสติกและพื้นเป็นยางพารา รวมทั้งจะเน้นให้เป็น Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ เมื่อรองเท้าเก่าแล้วลูกค้าสามารถนำมาขายคืนเป็นส่วนลดในการซื้อรองเท้าคู่ใหม่ เพื่อให้บริษัทนำรองเท้าคู่นั้นกลับไป Recycle กลับมาเป็นรองเท้าคู่ใหม่ได้อีกครั้ง
ส่วนนายพนา ศรีพิมพ์ ที่ปรึกษาบริษัท คว็อลลิทิ อะเบรซิฟ โพรดักส์ จำกัด บอกว่า การเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทได้พลิกผันจากการเป็นผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตเพื่ออุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องบิน มาผลิตเพื่ออุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์มากขึ้น โดยนวัตกรรมของบริษัทคือ เครื่องหยอดกาวล้อทรายมีแกน ที่เดิมก่อนร่วมโครงการฯ เคยใช้กาวอีพ็อกซี่ผสมซึ่งมีคุณสมบัติทนทานความร้อนได้ประมาณ 100 องศาเซลเซียส แต่ถ้านำไปขัดนานๆ ความร้อนเกินกว่านี้ ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือ ขัดงานที่มีประสิทธิภาพด้อยลง เมื่อได้เข้าร่วมโครงการฯ จึงได้พัฒนาต้นแบบโดยใช้กาวอีพ็อกซี่ คอมพาวด์ ซึ่งทนความร้อนได้สูงมากและการยึดเกาะดีขึ้น มีความปลอดภัยสูงมาก และขัดงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“หลักๆนวัตกรรมนี้จะใช้กับเครื่องมือทันตกรรมที่จะใช้วัสดุในการผลิตที่แข็งมาก ไม่สามารถใช้ผ้าทรายธรรมดาขัดได้ ต้องใช้ผ้าทรายขัดชนิดพิเศษที่บริษัทผลิต ซึ่งใช้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และการบิน เพราะอุตสาหกรรมการบินมักจะใช้วัสดุไทเทเนียมหรือนิกเกิลโครม ซึ่งเป็นโลหะที่แข็งมาก”
นายพนากล่าวอีกว่า ผ้าทรายที่ใช้ขัดไทเทเนียมได้มีเพียงไม่กี่แบรนด์ในโลก และผ้าทรายของบริษัทเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เขามองว่าการเข้าร่วมโครงการฯในปีนี้ จะช่วยให้สามารถต่อยอดนวัตกรรมของบริษัทได้มากขึ้น ด้วยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่จะได้เข้าร่วมเพิ่มในปีนี้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น