ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรมบุกอุดร รับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....
“ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรมบุกอุดร รับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....”
วันนี้ (วันที่ 17 ธันวาคม 2562) เวลา 9.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชั่นเซนเตอร์ จังหวัดอุดรธานี นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเพื่อวิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นผู้กล่าวรายงาน นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นวิทยากร และนางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองสิทธิมนุษชนระหว่างประเทศเป็นฝ่ายเลขานุการตลอดการประชุมฯ
การประชุมฯ ดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในกระบวนการจัดทำร่างกฎหมาย คือ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ตามหลักเกณฑ์ ม. 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชน จำนวน 100 คน
ในการประชุมดังกล่าว ท่านรองอธิบดีฯ ได้บรรยายถึงความเป็นมา เหตุผล และความสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฯ นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากผศ. ดร.กิตติ ชยางคกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และนายวรกร โอภาสนันท์ นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการพิเศษ เป็นวิทยากรบรรยายถึงหลักการต่อต้านการทรมานและการกระทำให้สูญหายตามอนุสัญญาฯ ของสหประชาชาติและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฯ
สำหรับผลจากการประชุมฯ ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นที่หลากหลายและสะท้อนข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น เช่น ความจำเป็นและเหมาะสมของร่างพระราชบัญญัติฯ การเพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการภายใต้ร่างพระราชบัญญัติฯ การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อร่างพระราชบัญญัติฯ คำนิยามของการกระทำทรมานฯ บทลงโทษผู้กระทำความผิด มาตรการป้องกันการทรมานฯ เป็นต้น ซึ่งจะได้นำไปรวบรวมประกอบการประมวลเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
อนึ่ง การประชุมฯ ในวันนี้เป็นลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ทรมานฯ เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งต่อไปมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 24 ธ.ค. 2562 ณ จังหวัดปัตตานี
"เคารพชีวิต ใช้สิทธิตามกฎหมาย ขจัดการอุ้มหายและทรมาน"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น