สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ MOU ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”


          จังหวัดร้อยเอ็ด  สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ MOU ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” สืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติ ให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย



   เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 เวลา 13.30 น..สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ MOU ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” จังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้องประดับเพชร โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางรชตพร  โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางศันสนีย์ ทาสม ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 12  นายดำรงค์   สิริวิชย อิ่มวิเศษ    รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานแม่บ้านมหาดไทย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเอกชน เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU



นางนวลจันทร์ ศรีมงคล หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติ ให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ชาวโลกได้ชื่นชมอีกทั้งเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนทั่วประเทศ และยังสนับสนุนส่งเสริม การสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่นชนบท
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ  กล่าวว่า สภาสตรีแห่งชาติ ฯ ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาผ้าไทย จึงจัดทำโครงการอนุรักษ์ รณรงค์การสวมใส่ผ้าไทยในทุกๆวันกับกรมการพัฒนาชุมชนและขยายผลไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นการใส่ผ้าไทยในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจครัวเรือนและชุมชน อันจะนำมาซึ่งความสามารถในการพึ่งตนเองและเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้คนในจังหวัดร้อยเอ็ด มีคนที่สามารถทอผ้าได้เป็นจำนวนนับหมื่นคน ดังนั้นถ้าทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าไทย แต่ละคนจะได้ซื้อผ้าไทย อย่างน้อย 10 เมตร หากว่าคนจังหวัดร้อยเอ็ด ใช้ผ้าไทย 2 แสนคน ก็จะเกิดความต้องการผ้าถึง 2 ล้านเมตร เป็นการสร้างตลาด และสร้างเม็ดเงิน มากกว่า แสนล้านบาท สร้างความต้องการ เพื่อต่อไปลูกหลานของเรา ให้หันมาทอผ้าเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว และยังเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไปยังลูกหลานเราเพื่อรักษาไว้ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาอันมีคุณค่า ที่นำไปต่อยอดเพื่อเป็นชื่อเสียง สร้างเป็นรายได้ ให้กับชุมชน อย่างยั่งยืนต่อไป



ผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด คือ ผ้าสาเกต ผ้าไหมลายสาเกต หมายถึง ผ้าไหมที่ประกอบด้วยลายผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ในการทอผ้าไหมของจังหวัดร้อยเอ็ดที่ได้นำเอาลายมัดหมี่พื้นบ้าน 5 ลายที่นิยมทอในกลุ่มชนที่อยู่ในเมืองร้อยเอ็ด มาทอต่อกันในผ้าผืนเดียวกันเปรียบเสมือนเป็นการหลอมรวมความสามัคคีของชาวร้อยเอ็ดให้เป็นหนึ่งเดียว โดยแต่ละลายจะทอคั่นด้วยผ้าสีพื้นสีดอกอินทนิลบก (สีชมพูอมม่วง) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ลายมัดหมี่พื้นบ้าน 5 ลายที่ประกอบในผ้าสาเกต ได้แก่ ลายโคมเจ็ด ลายนาคน้อย ลายคองเอี้ย ลายหมากจับ ลายค้ำเพา ลวดลายทั้ง 5 ลายนี้ ได้นำมาประยุกต์ไว้ในผ้าผืนเดียวกันและได้มีการประกาศชื่อลายนี้คือ ลายสาเกต เป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด มายาวนาน เป็นระยะเวลา 18 ปี


            จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในการทอผ้า โดยมีผ้าลายประจำจังหวัดร้อยเอ็ด คือ ผ้าลายสาเกต มีการทอทั้งผ้าไหม และผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นการทอที่เป็นวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน จังหวัดร้อยเอ็ดจึงร่วมสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน โดยจัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรมการพัฒนาชุมชน และจังหวัดร้อยเอ็ด นับว่าเป็นการอนุรักษ์ผ้าไทยจากภูมิปัญญา และรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองจนเกิดเป็นรูปธรรม
คมกฤช พวงศรีเคน ข่าว/ภาพ
สุทธิชัย อุปปะ(เต็ม ข่าวไทยนิวส์)
รายงาน


ความคิดเห็น